KTC เล็งนำแฟลตฟอร์มเชื่อมโยงพาร์ทเนอร์ที่มีสินทรัพย์ดิจิทัล

“เคทีซี” คาดผลดำเนินงานไตรมาส1/65 โต เหตุมาตรการช้อปดีมีคืน หนุน ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น ลั่นทั้งปีกำไรทะลุ 6 พันล้านเล็งนำแพลตฟอร์มMAAI By KTC เชื่อมโยงพาร์ทเนอร์ที่มีสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ต้องไม่ขัดกม. ย้ำทำไม่ได้โดยตรง เหตุอยู่ภายใต้กำกับ ธปท.
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KTC กล่าวว่า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ไม่ใช่พื้นที่ที่KTCจะเข้าไป เนื่องจาก KTCอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ซึ่งยังไม่สนับสนุนให้เข้าไปทำ โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าและบริการ
แต่อาจจะมีบางส่วนที่จะเข้ามาเชื่อมโยงอยู่ในแพลตฟอร์มของ MAAI By KTC ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้พาร์ทเนอร์ใช้บริหารจัดการคะแนนสะสม โดยหากพาร์ทเนอร์มีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้วจะนำมาเชื่อมโยงบนแฟลตฟอร์มดังกล่าว ก็สามารถทำได้ ซึ่งยังต้องจะพิจารณารูปแบบที่ไม่ขัดกับเกณฑ์ที่ผู้กำกับดูแล
ด้านแนวโน้มการดำเนินธุรกิจไตรมาสแรกปีนี้ นายระเฑียร คาดว่ามีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากเดือนม.ค.ที่ผ่านมานี้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตดีขึ้นมาก จากปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” อัตราการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมากทำให้ยอดใช้จ่ายในเดือนม.ค.ปีนี้ดีกว่าม.ค.ปี 2562 แต่ยังต้องระมัดระวังเพราะในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง
“ในปีนี้เราพยายามทำให้ได้ตามแผนงาน เพราะถึงแม้เงินเฟ้อจะมา ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขึ้น เราคิดว่าจะบริหารได้ เรามองประเด็นพวกนี้ไว้ครบถ้วนแล้ว ”
ดังนั้นยังมั่นใจว่าปี 2565 การเติบโตของกำไรจะเป็นระดับสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) อีกครั้ง หรือมากกว่า 6,251 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เติบโต 10% สินเชื่อส่วนบุคคล เติบโต 7%
ส่วนยอดปล่อยสินเชื่อพี่เบิ้มอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทแบ่งเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 80%หรือประมาณ 8,000 ล้านบาทซึ่งจะอยู่ในพอร์ตของเคทีซี และสินเชื่อเช่าซื้ออีก 3,500-4,000 ล้านบาท จะเป็นส่วนของเคทีบีลีสซิ่ง โดยมีพอร์ตสินเชื่อรวมแตะ 100,000 ล้านบาท
ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)นั้น ณ ปลายปี 64 อยู่ที่ 3.6% เป็นของบัตรเครดิต 1.2% สินเชื่อบุคคล 2.9% โดยในปีนี้ก็จะยังคงพยายามให้อยู่ในระดับเดิมหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และการตั้งสำรองหนี้เผื่อหนี้สงสัยจะสูญโดยรวมในปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business